รายการสินค้า ที่นำเข้ามาล่าสุด
วิธีการคำนวณออกแบบระบบ
หลักการคำนวณ การออกแบบติดตั้ง เพื่อเลือกซื้ออุปกรณ์ ตามการออกแบบของ SolarThailand เน้นความปลอดภัยเป็นหลัก
สูตรการคำนวณ พื้นฐาน ที่ควรรู้
Watt(วัตต์) = Voltage(โวลท์) X Amp(แอมป์)
การต่อแผงโซลาร์ อนุกรม : กระแสเท่าเดิม , โวลท์ บวกกันไปเรื่อยๆ
การต่อแผงโซลาร์ ขนาน : โวลท์เท่าเดิม , กระแส บวกกันไปเรื่อยๆ
การเลือกซื้ออุปกรณ์ อย่าลืม ค่าเผื่อความปลอดภัย
ระบบ Solar cell
โซลาร์เซลล์ โซล่าเซลล์ ไม่ว่าจะเขียนอย่างไร ก็คือระบบพลังงานแสงอาทิตย์ รับไฟจากแสงสว่าง เปลี่ยนเป็นเป็นพลังงานไฟฟ้า
มีหลายคนอยากติดโซลาร์เซลล์ เพื่อประหยัดไฟ มีแนวทางออกแบบอย่างไรบ้าง เป็นคำถามยอดฮิต บางคนก็ติดตั้งผิดบ้าง ถูกบ้าง หรือติดตั้งแล้ว ใช้งานไม่ตรงความต้องการ รื้อระบบติดใหม่ก็มี หรือปล่อยให้เป็นซาก อยู่บนหลังคาไม่ได้ใช้งาน ไม่ใช่แค่คำว่าอยากติดโซลาร์เซลล์ ต้องอยู่ต้องการใช้งานแบบใด เช่น ติดโซลาร์เซลล์แต่ใช้งานแต่กลางคืน สำหรับสังคมเมืองแล้วไม่มีความเหมาะสมในการติดตั้ง
ทำความเข้าใจเบื้องต้น แผงโซลาร์เซลล์ จะผลิตไฟฟ้า DC ในตอนกลางวัน ที่มีแสงแดด แรงดัน (โวลท์) ที่ได้จะเป็นตามสเปคของแผง ขึ้นลงเล็กน้อย ยามที่มีแดด ส่วนกระแส (แอมป์) ที่ได้ ไฟจะมากหรือน้อย ตามความสว่างของแสงแดด สว่างมากกระแสแรง ฝนตก เมฆบังกระแสลด ความสว่างไม่ใช่ความร้อน แต่ถ้าเซลล์มีความร้อนมากๆ กระแสก็จะตกลง พลังงานไฟฟ้า (วัตต์) ที่ได้จาก โวลท์คูณแอมป์ แต่ละช่วงเวลาจะไม่เท่ากัน มีขึ้นมีลงเพราะแสงแดดไม่คงที่
ปัจจุบันแผงโซลาร์ จะออกแบบผลิตขนาดมาตรฐาน ใน 1 แผ่น มี 36 เซลล์ (18-20 โวลท์) 60 เซลล์ (30-32 โวลท์) หรือ 72 เซลล์ (36-40 โวลท์) การเลือกแผงไปใช้งาน ต้องคำนึงถึงอุปกรณ์ที่ต้องนำมาใช้งานร่วม ให้อยู่ในช่วงของการทำงานที่พอดีกัน
การติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ ให้เหมาะกับความต้องการ
แผงโซลาร์เซลล์ ผลิตไฟฟ้า DC มีกำลังเป็นวัตต์ มี โวลท์ แอมป์ มาเกี่ยวข้อง
สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคืออุปกรณ์แปลงไฟต่างๆ หรืออุปกรณ์ที่ใช้งานร่วม เช่นอินเวอร์เตอร์ ปั๊มน้ำ มอเตอร์ ชาร์จคอนโทรล ต้องเลือกประเภทให้เหมาะกับการใช้งานที่ต้องการ และอุปกรณ์เหล่านั้น จะมีข้อมูล INPUT Voltage Amp Watt ควรเลือกแผงโซลาร์ไปต่อให้เหมาะสม และอยู่ในช่วงการใช้งาน ที่สำคัญที่สุดคือต้องปลอดภัย และไม่ใช้งานหนัก
เราไม่แนะนำ แผงแตก แผงมือสอง เสี่ยงต่อไฟดูด ไฟรั่ว ไฟช๊อต และไฟไหม้ อีกทั้งกระแสและแรงดันที่ได้ไม่คงที่ ส่งผลให้อุปกรณ์ที่ใช้งานร่วมกันเสียหาย ซึ่งมีมูลค่ามากกว่าแผง หรือเกิดเหตุไม่คาดคิด ถ้ามีผู้รู้แก้ไขสถานะการณ์ทันก็ไม่เป็นไร แต่หากไม่มีใครอยู่ หรือมีเพียงภรรยา ลูก คนแก่ อยู่เพียงลำพัง ก็ไม่สามารถช่วยได้
แนวทางการออกแบบระบบ ให้เหมาะกับความต้องการ
สำหรับบ้านพักอาศัย ไฟบ้าน 220V ใช้กลางคืนส่วนใหญ่ กลางวันใช้น้อย
การใช้ไฟแบบนี้ ไม่แนะนำให้ติดตั้งโซลาร์เซลล์ สำหรับเมืองใหญ่ เนื่องจากระบบไฟฟ้ามีเพียงพอปัญหาไฟดับมีน้อย แต่หากต้องการติดตั้ง ต้องมีแบตเตอรี่สำหรับเก็บไฟจากแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งการมีแบตเตอรี่จะไม่ช่วย เรื่องประหยัดไฟ เนื่องจากแบตเตอรี่ที่ใช้งานทุกวัน จะอายุสั้นกว่าการใช้งานแบบสำรองไฟ หากต้องการติดตั้ง แนะนำดูรายละเอียดการติดตั้ง แบบมีระบบสำรองไฟ
สำหรับร้านค้า สำนักงาน Office ไฟบ้าน 220V และใช้ไฟกลางวันเป็นหลัก
การติดตั้งเพื่อปะหยัดไฟในตอนกลางวันเป็นหลัก ระบบการติดตั้งที่เหมาะสมคือ แบบออนกริด ระบบไฟ AC ที่ออกจากอินเวอร์เตอร์ เชื่อมต่อระบบเมนไฟโดยตรง ขนาดการติดตั้ง คำนวณจากบิลค่าไฟโดยตรง
อินเวอร์เตอร์ระบบนี้ จะทำงานเมื่อมีไฟจากการไฟฟ้า และมีไฟจากแผงโซลาร์เซลล์
- กรณีตอนกลางคืน ไม่มีโซลาร์เซลล์ อินเวอร์เตอร์จะหยุดทำงานพักเครื่อง รอจนกว่าเช้าวันใหม่ มีไฟจากแผงโซลาร์ จะเปิดเครื่องทำงาน
- กรณีไฟการไฟฟ้าดับ อินเวอร์เตอร์มองว่าระบบการไฟฟ้า AC มีปัญหา อินเวอร์เตอร์จะหยุดการจ่ายไฟ รอจนกว่ามีไฟการไฟฟ้าเข้ามาตามปกติ
อินเวอร์เตอร์รุ่นใหม่ มี CT ป้องกันไฟย้อนไปการไฟฟ้า ผลิตไฟฟ้าพอดีกับการใช้งาน จะไม่มีผลต่อมิเตอร์ไฟฟ้า สามารถติดตั้งได้ทันที ขอให้มีระบบความปลอดภัยครบชุด เช่นเดียวกัยระบบการขายไฟ
สำหรับบ้านพักอาศัย ไฟบ้าน 220V ใช้กลางคืน และกลางวัน พอๆกัน
การติดตั้งเพื่อปะหยัดไฟในตอนกลางวันเป็นหลัก ระบบการติดตั้งที่เหมาะสมคือ แบบออนกริด ระบบไฟ AC ที่ออกจากอินเวอร์เตอร์ เชื่อมต่อระบบเมนไฟโดยตรง ขนาดการติดตั้ง ดูจากยูนิตบิลค่าไฟหารสอง เพื่อประหยัดไฟในตอนกลางวันเท่านั้น
อินเวอร์เตอร์ระบบนี้ จะทำงานเมื่อมีไฟจากการไฟฟ้า และมีไฟจากแผงโซลาร์เซลล์
- กรณีตอนกลางคืน ไม่มีโซลาร์เซลล์ อินเวอร์เตอร์จะหยุดทำงานพักเครื่อง รอจนกว่าเช้าวันใหม่ มีไฟจากแผงโซลาร์ จะเปิดเครื่องทำงาน
- กรณีไฟการไฟฟ้าดับ อินเวอร์เตอร์มองว่าระบบการไฟฟ้า AC มีปัญหา อินเวอร์เตอร์จะหยุดการจ่ายไฟ รอจนกว่ามีไฟการไฟฟ้าเข้ามาตามปกติ
อินเวอร์เตอร์รุ่นใหม่ มี CT ป้องกันไฟย้อนไปการไฟฟ้า ผลิตไฟฟ้าพอดีกับการใช้งาน จะไม่มีผลต่อมิเตอร์ไฟฟ้า สามารถติดตั้งได้ทันที ขอให้มีระบบความปลอดภัยครบชุด เช่นเดียวกัยระบบการขายไฟ
สำหรับบ้าน สำนักงาน ร้านค้า ไฟ 220V มีระบบสำรองไฟ
สำหรับระบบสำรองไฟ 220V ไฟจำเป็น ตู้เย็น บ่อปลา ปั๊มน้ำ คอมพิวเตอร์
สำหรับพื้นที่ ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง ต้องการไฟฟ้าใช้งาน ระบบพึ่งพาตนเอง
สำหรับพื้นที่มีไฟบ้าน 220V ต้องการใช้งานมอเตอร์ 3 เฟส 380V
แผงโซลาร์เซลล์ Solar Cell เป็นแผงผลิตกระแสไฟฟ้า จากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า Photovoltaics module (PV module) หรือมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Solar module เป็นอุปกรณ์หลักสำคัญในการผลิตไฟฟ้า มีลักษณะด้านหน้าเป็นแผ่นกระจกใส ด้านในเป็นแผ่นโซลาร์เซลล์หลายแผ่น ต่อเรียงกัน อาจจะมีสีฟ้าเข้มหรือสีดำ แล้วแต่ชนิดของโซลาร์เซลล์ที่มาทำแผง และมีขนาดใหญ่เล็กแตกต่างกันไป แล้วแต่ขนาดของกำลังไฟฟ้า(วัตต์)ที่ผลิตได้ ขอบแผงเป็นโลหะหรืออลูมิเนียมแข็งแรง ไว้สำหรับยึดกับโครงต่างๆ เช่นหลังคาบ้าน หรือโครงเหล็กที่ติดตั้งบนพื้นดิน
ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากแผงโซลาร์เซลล์ จะเป็นไฟฟ้ากระแสตรง ซึ่งสามารถนำไปต่อกับอุปกรณ์ไฟฟ้า สำหรับไฟกระแสตรง หรืออาจนำไฟที่ได้ไปแปลงเป็น ไฟฟ้ากระแสสลับ ผ่านอุปกรณ์ที่เรียกว่าอินเวอร์เตอร์ จะได้ไฟฟ้ากระแสสลับ เพื่อใช้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าตามบ้านทั่วไปได้ โดยสามารถเลือกต่อได้หลายแบบ ตามลักษณะการออกแบบและใช้งาน มาตรฐานสากล อายุการใช้งาน 25 ปี
อุปกรณ์แปลงผันไฟฟ้า (Grid connected Inverter)
กริดไท อินเวอร์เตอร์ เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้า สำหรับแปลงระบบไฟ จากไฟฟ้ากระแสตรง (DC) ที่ได้รับมาจากแผงโซลาร์เซลล์ ให้กลายเป็นไฟกระแสสลับ (AC) 220V / 1 เฟส (2 สาย) สำหรับไฟบ้านทั่วไป หรือแปลงระบบไฟแบบ 380V / 3 เฟส สำหรับโรงงานหรือสถานที่ใช้ไฟ 3 เฟส กริดไท อินเวอร์เตอร์ สามารถปรับขนาดของแรงดันและความถี่ จึงสามารถเชื่อมต่อกับเมนไฟบ้าน ร่วมกับสายส่งของการไฟฟ้า และเพื่อความปลอดภัย ในระยะยาว ควรติดตั้งภายในอาคาร ในตัวบ้าน หรือโรงจอดรถ ในร่ม ไม่ถูกแดด หรือฝน กริดไท อินเวอร์เตอร์ จะทำงานเมื่อมีไฟจากแผงโซลาร์เซลล์ และมีไฟจากการไฟฟ้ามาเลี้ยง จะหยุดการทำงานหากเป็นตอนกลางคืน หรือไฟจากการไฟฟ้าดับ มาตรฐานสากล การรับประกัน 5 ปี ไม่รับประกันหากฟ้าฝ่า ไฟกระชาก หรือต่อสายผิด
โครงสร้างจับยึดแผงโซลาร์เซลล์ (Solar Mounting systems)
วัสดุโครงสร้างแบบโลหะปลอดสนิม เช่น อลูมิเนียม(Aluminum) สเตนเลส (Stainless steel) หรือเป็นเหล็กเคลือบสังกะสีแบบจุ่มร้อน (Hot dip galvanizing) ตามมาตรฐาน ASTM สามารถถอดออกเป็นชิ้นส่วน และประกอบได้อย่างสะดวก มีขนาดที่เหมาะสม สามารถติดตั้งแผงได้อย่างมั่นคง แข็งแรง สามารถรับน้ำหนัก และสามารถต้านทานแรงลมปะทะ ไม่น้อยกว่าความเร็วสูงสุด ของพายุโซนร้อน (Tropical storm) ได้อย่างปลอดภัย มาตรฐานสากล อายุการใช้งานนานกว่า 25 ปี
ตู้คอนโทรลไฟฟ้า (ฺBreaker Control)
เป็นตู้หรือกล่องสำหรับใส่อุปกรณ์คอนโทรลระบบไฟฟ้า จะติดตั้งใกล้กับ กริดไท อินเวอร์เตอร์ จะมีอุปกรณ์ที่สำคัญคือ เบรคเกอร์ AC (AC Circuit Breaker) สำหรับตัดวงจรไฟฟ้าที่ผลิตได้จาก กริดไท อินเวอร์เตอร์ - DC (Circuit Breaker) สำหรับตัดวงจรไฟฟ้ากระแสตรง จากแผงโซลาร์เซลล์ก่อนเข้า กริดไท อินเวอร์เตอร์ - มิเตอร์ไฟฟ้า (KWH Watt Meter) สำหรับเก็บข้อมูลการผลิตไฟฟ้า สำหรับอินเวอร์เตอร์ไม่แสดงพลังงานไฟฟ้า - อุปกรณ์ป้องกันฟ้าผ่า ป้องกันไฟกระชาก (Surge Protection Device) สำหรับปกป้อง อุปกรณ์แปลงผันไฟฟ้า์ เนื่องจาก กริดไท อินเวอร์เตอร์ ทุกยี่ห้อ จะไม่รับประกันกรณีฟ้าฝ่า หรือไฟกระชาก - ฟิวส์ (Fuse) สำหรับปกป้องและ ขาดไฟทันที เมื่อกระแสเกิน หรือไฟช๊อต
สายไฟ DC โซลาร์เซลล์
เป็นสายไฟ PV1-F ออกแบบมาเพื่อโซลาร์เซลล์โดยเฉพาะ เป็นสายเส้นเล็กหลายเส้น ผิวของลวดทองแดง จะเคลือบดีบุกสีเงิน เพื่อการนำไฟฟ้าที่ผิวของระบบไฟ DC เปลือกสายไฟหุ้มสาย 2 ชั้น ทนความร้อนได้ดี ขนาดสายไฟที่ใช้ส่วนใหญ่ เป็นขนาด 4 ตาราง มม. - 6 ตาราง มม. ไม่ควรนำสาย AC มาเดินสายแทน DC เพราะสาย AC ไม่เคลือบดีบุกที่ผิว จะเกิดคราบตระกรันเมื่อใช้งาน ทำให้การนำไฟฟ้า DC จะลดลงอย่างมาก ไม่นานต้องเดินสายใหม่
ข้อต่อสายไฟ MC4
เป็นข้อต่อสายไฟ มาตรฐานสากล กันน้ำฝน ถอดประกอบสะดวก สำหรับงานโซลาร์เซลล์โดยเฉพาะ รองรับสายไฟขนาด 2.5 ตาราง มม. - 6ตาราง มม.
การออกแบบติดตั้ง
งบประมาณการติดตั้ง โดยประมาณ 100,000 บาท ประหยัดค่าไฟ ประมาณ 1,000 บาทต่อเดือน
ให้ประมาณการสำหรับการใช้ไฟในตอนกลางวัน ประมาณกี่ยูนิต ในแต่ละวัน แล้วจึงประเมินว่าจะติดตั้งโซลาร์เซลล์ ขนาดกี่ KW จากนั้นเลือกอินเวอร์เตอร์ที่เหมาะสม ระบบไฟแบบ 220V หรือ 380V ดูสเปคอินเวอร์เตอร์ ว่า Max.Input DC กี่ KW มีกี่ MPPT แล้วไปคำนวณ ใช้แผงโซลาร์เซลล์ ขนาดใด จำนวนกี่แผ่น ประเมินพื้นที่ติดตั้ง หลังคาแบบใด เลือกหันหน้าแผงไปยังทิศใต้เป็นหลัก หากงบประมาณสูงเกินไป ก็ลดขนาดติดตั้งให้เล็กลงตามงบที่มี งบประมาณ วัตต์ละ 65-70 บาท การเชื่อมต่อเข้ากับไฟบ้าน ควรเชื่อมต่อระบบไฟ หลังเมนเบรคเกอร์ไฟบ้าน ในจุดที่มีสาย AC ขนาดใหญ่ 4มม. ขึ้นไป เช่นเมนไฟหลัก สายไฟแอร์ สายไฟน้ำร้อน

|